วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เชียงใหม่ เอฟซี

สโมสรเชียงใหม่ เอฟซี หรือ Chiang Mai Football Club ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2553 โดยก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่าเชียงใหม่ ยูไนเต็ด, เชียงใหม่คาลิเบอร์ ลงทำการแข่งขันฟุตบอลโปรวินเชียลลีก ในปีก่อนหน้านี้ จน ดร.อุดรพันธุ์ จันทรวิโรจน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬา (ในขณะนั้น) สนับสนุนทีมฟุตบอลในสิทธิ์ของจังหวัดเชียงใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นเชียงใหม่เอฟซี รวมไปถึงดำรงตำแหน่งประธานสโมสร สัญลักษณ์ของทีมคือ เสือหรือพยฆ์ อยู่ภายใต้อนุสาวรีย์สาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์คู่เมืองเชียงใหม่

ผลงานการแข่งขันของเชียงใหม่เอฟซี ในปีที่ผ่าน ๆ มา
- ปี 2553 แชมป์ฟุตบอลลีกภูิมิภาคโซนเหนือ (18 ทีม), ที่สองของกลุ่มในรอบแบ่งกลุ่มของรอบ Champion League, ที่สามในชิงแชมป์ของ Champion League ของลีกภูมิภาค ได้เลือนชั้นสู่ฟุตบอลไทยดิวิชั่น 1
- ปี 2554 อันดับ 18 ของฟุตบอลไทยดิวิชั่น 1 ตกชั้นลงมาสู่ลีกภูมิภาคโซนภาคเหนือ
- 2555 แชมป์ฟุตบอลลีกภูิมิภาคโซนเหนือ (18 ทีม), ที่สามของกลุ่มในรอบแบ่งกลุ่มของ Champion League ของลีกภูมิภาค ไม่ได้เลื่อนชั้นขึ้นไปยามาฮ่าลีกวัน (เปลี่ยนชื่อมาจากดิวิชั่น 1)
- 2556 แชมป์ฟุตบอลลีกภูิมิภาคโซนเหนือ (16 ทีม) ในเวลานี้ อยู่ระหว่างการแข่งขัน Champion League ของลีกภูมิภาค (14/10/2556) แข่ง 2 นัด นัดแรกชนะนครนายก เอฟซี 0-1, นัดที่สองเสมอปากน้ำโพ NSRU เอฟซี 0-0

ที่ตั้งและสนามซ้อมของเชียงใหม่้ เอฟซี อยู่ด้านหลังเซ็นทรัลแอร์พอร์ตพลาซ่า อยู่ติดกันเลย แวะไปเยี่ยมชมนักเตะซ้อมในตอนเย็น และมี Academy สำหรับเด็กเล็กถึงวัยรุ่ึนด้วย
คลับเฮาส์ของเชียงหใม่ เอฟซี ชั้นล่างเป็น Shop จำหน่ายของที่ระลึกของสโมสร, ชั้นสองและสามเอาไว้จัดกิจกรรมต่าง ๆ

สนามซ้อมของเชียงใหม่ เอฟซี
scoreboard ใหญ่สะดุดตา
อีกด้านเป็นโกดังเก็บของ ของ บ.สิงห์พัฒนา ของ ดร.อุดรพันธุ์
คลับเฮาส์เมื่อมองจากสนามซ้อม
มีสนามหญ้าเทียมในร่มสองสนาม เปิดให้บุคคลภายนอกเช่าราย ชม. ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.chiangmaifc.com/2013/



วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ถนนราชวิถีข้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

ถนนข้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์มีสองเส้นคือ ถนนอินทวโรสและถนนราชวิถี โดยถนนอินทวโรสรสได้กล่าวถึงไปแล้ว มาดูกันอีกฝั่งบ้าง ในส่วนของถนนราชวิถีนี้ถ้าหันหลังให้อนุสาวรีย์สามกษัตริย์จะอยู่ซ้ายมือ มีสี่แยกไฟแดง โดยทั่วไปแล้วจะถูกเรียกว่า "สี่แยกยุพราช" บ้างไม่ก็ "แยกสามกษัตริย์" บ้างแล้วแต่บุคคล
จากมุมนี้จะเห็นโรงเรียนยุพราชอยู่อีกฝั่งถนน
เลี้ยวซ้าย เิดินไปตามถนน ฝั่งข้าง ๆ อนุสาวรีย์ จะเจอร้าน "Kaffe 151" เป็นร้านกาแฟ ซึ่งเมื่อก่อนตรงหัวมุมนี้จะเป็นร้าน "จรัสธุรกิจ" ซึ่งทำเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์
หัวมุมฝั่งตรงข้ามโรงเรียนยุพราช
ร้าน Kaffee 151 ใช้กาแฟดอยช้าง ส่วนตัวยังไม่เคยทาน ไว้โอกาสหน้านะ

ตัวร้านน่านั่งใช้ได้
มีโซนห้องแอร์ด้วยนะ
เดินเข้าถนนราชวิถีไปอีกนิดเดียว ถัดจากร้าน Kaffee 151 จะเป็นร้านจรัสธุรกิจนี่เอง คือ ย้ายจากหัวมุมมาอยู่ที่นี่ จากความทรงจำสมัยละอ่อน ที่ตั้งของจรัสธุรกิจนี้ เมื่อก่อนตอนเรียน ม.ปลายที่ยุพราชช่วงปี พ.ศ. 2536-39 จะเป็นโรงเรียนกวดวิชา จำไม่ได้ว่าชื่ออะไร เพราะตอนนั้นไม่ได้เรียนกวดวิชา แต่เพื่อนสนิทร่วมห้องคนนึงมาเรียนที่นี่ ปิดเทอมก็มีเข้าค่ายที่นี่แหละ ค้างคืน มีกิจกรรมติวและแนะแนวหลายคืนอยู่้เหมือนกัน

จากนั้นประมาณปี พ.ศ.2540-2545 ก็ย้ายไปเป็นศุนย์รถจักรยานยนต์ยี่ห้อ Tiger สักพักใหญ่ ๆ ไม่นานก็ย้ายไป จนมาเป็นจรัวธุรกิจที่ขยายตัวมาจากที่เดิม
จรัสธุรกิจในปัจจุบัน เดือนตุลาคม 2556
ถัดมาอีกหน่อยเป็นร้านอาหาร 2-3 ร้าน
ลองแวะทานกันไ้ด้ครับ โอเคอยู่
ฝั่งตรงข้าม (หลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์) ที่เมื่อก่อนเป็นศาลากลางเมืองเชียงใหม่ ได้เปิดเป็นหอประวัติศาสตร์เืมืองเชียงใหม่ ซึ่งวันที่เราไปก็ปิด มีโอกาสจะไปเก็บรูปและบรรยากาศมาฝากแน่นอน
ทางเข้าหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
โดยหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ เปิดทำการ วันอังคาร-วันอาทิตย์ (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) (ปิดวันจันทร์ และวันหยุดสงกรานต์) เวลา 08.30 -17.00 น  อัตราเข้าชม คนไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็กไทย 10 บาท คนต่างชาติผู้ใหญ่ 90 และเด็กต่างชาติ 40 บาท
โทรศัพท์ 053-217-793 และโทรสาร 053-219-833 [1, 2]

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
[1] http://www.cmocity.com/
[2] http://www.facebook.com/cm.3museum

วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วัดอินทขีลสะดือเมือง

วัดอินทขีลสะดือเมือง
ตั้งอยู่ที่ถนนอินทวโรรส หรือถ้าหันหน้าเข้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์จะอยู่ทางซ้ายมือ วัดอินทขีลสะดือเมืองมีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ เดิมทีเป็นวัดร้างและเคยเป็นที่ประดิษฐานเสาอินทขีล (เสาหลักเมือง) ของเมืองเชียงใหม่ คำว่า สะดือเมือง นั้นเนื่องจากวัดตั้งอยู่ใจกลางของเมืองเชียงใหม่ผู้คนทั้งหลายจึงนิยมเรียกกันติดปากว่า วัดสะดือเมือง ดังนั้นทางวัดจึงตั้งชื่อว่า วัดอินทขีลสะดือเมือง [1]

สมัยพญามังรายได้ทรงสร้างวัดสะดือเมืองขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลัก เมืองหรือเสาอินทขิล จะสังเกตุเห็นว่าวิหารหลวงพ่อขาวนั้นสร้างออกไปกลางถนนเล็กน้อย ที่จริงนั้นเดิมทีถนนไม่ได้ผ่านบริเวณนี้แต่พอวัดร้างไปทางราชการจึงสร้าง ถนนผ่าน [1, 2]
ด้านหน้าวิหารหลวงพ่อขาวของวัดอินทขีลสะดือเมือง
หลวงพ่อขาวเป็นพระประธานของวิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดอินทขีลสะดือเมืองคือหลวงพ่อขาว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบล้านนา มีพระพักตร์อิ่มเอิบ ดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญ ที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตา ทำให้ผู้ที่มากราบไหว้บูชาได้รับความสุขใจ, สงบใจและทำให้เกิดความรู้สึกที่มั่นใจ มีความหวังที่จะประกอบการงานใดเป็นประดุจหนึ่งว่า "ท่านจงทำดีเถิด ทำงานเถิด แล้วจะประสบผลสำเร็จ สมความปรารถนาทุกประการ" [1]

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
[1] http://www.watinthakhin.com/about.php
[2] ชีวิตแสนสุขในเชียงใหม่, รุ่งวิทย์สุวรรณอภิชน พิมพ์ครั้งแรก

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ร้านอาหารข้าง ๆ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์

ร้านอาหารที่อยู่ด้านข้างของอนุสาวรีย์สามกษัตริย์นั้น เกือบทั้งหมดเป็นร้านเก่าแก่ ตั้งมานานกว่า 30 ปี โดยคนเชียงใหม่จะเรียกว่า "ข้างศาลากลางเก่า" บ้าง หรือ "หน้าอำเภอ" บ้าง แต่จริง ๆ แล้ว ที่ทำการอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ จะอยู่ถัดไปอีกหน่อยนึง เรียกว่าข้างศาลากลางเก่า จะโอเคกว่าหน่อย ทา่งไปไม่ยากครับ เดินเข้าไปที่ถนนอินทวโรสได้ครับ ที่หัวมุมมีร้านถ่ายรูปเก่าแก่เหมือนกัน เห็นมาตั้งแต่สมัยเรียน ม.ปลาย ที่ยุพราช เมื่อก่อนมาใช้บริการบ่อย ๆ

ผ่านร้านนี้ทีไร นึกถึงวันเก่า ๆ ทุกครั้งเลย
 อ้อ ตอนนี้ไ้ด้มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถนะครับ ถ้าขับ/ขี่รถมา ต้องไปเข้าอีกด้านของอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ คือฝั่งถนนราชวิถี ตรงไปเจอสี่แยกก็เลี้ยวซ้ายไปตามถนนจ่าบ้านอีกเล็กน้อย แล้วเลี้ยวซ้าย ก็จะเข้าสู่ถนนอินทวโรรส หาจอดได้ร้านแต่ยากครับ แนะนำว่าหาที่จอดที่จอดได้ แล้วเดินมาดีกว่า

แดดร่ม ลมตก มองเข้าไปจะเห็นวัดอินทขีลสะดือเมือง


 ผ่านวัดอินทขีลสะดือเมืองก็จะเริ่มเจออาคารที่เป็นที่ตั้งของร้านอาหารต่าง ๆ เริ่มจากร้าน "น้ำทับทิม" เป็นร้านขายขนมหวานและน้ำหวานจากผลไม้, ถัดมาเป็นร้าน "สอาด" ขายก๋วยเตี๋ยวปลา ร้านนี้อร่อยครับ รสกลาง ๆ


ตัวอาคารให้ความรู้สึกแบบเก่า ๆ ย้อนเวลาไปสมัยเด็ก ๆ ที่มาทานแถวนี้ครั้งแรก ๆ
ถัดจากร้านสอาดก็เป็นร้านหนังสือและร้าน "ไอศครีมมะพร้าว" เจ้าเก่าดั้งเดิมจริง ๆ ของเชียงใหม่ต้องร้านนี้ ถัดไปอีกก็เป็นร้านข้าวมันไก่ชื่อดังของเชียงใหม่ "เกียรติโอชา" ที่ต้องมาทานให้ได้สักครั้ง

ที่เกียรติโอชา บ่ายสองกว่า ๆ ก็หมดแล้วครับ ปิดร้านไปแล้ว



 มีซอยทางเข้า "อนุบาลพรรณี" คั่นกลางระหว่างเกียรติโอชาและ "ก๋วยเตี๋ยวเป็ด" ไ่ม่ได้ทานร้านนี้นานแล้ว จำได้ว่ารสกลาง ๆ ครับ อร่อยอยู่เหมือนกัน ถัดไปเป็นร้านข้าวมันไก่ไหหลำ "กฤษโอชา" ว่ากันว่าเจ้าของร้านพี่น้องกับกฤษโอชา เมื่อก่อนไม่มีคำว่า ไหหลำ ต่อท้ายนะ พึ่งจะมีในช่วงหลังนี่เอง อ้อ หน้าร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดมีไอศครีมมะพร้่วอีกเจ้า คนละร้าน/เจ้าของ กับร้านแรกนะ


เงียบ ๆ ในยามบ่าย
ถัดมาอีกเป็นร้านขายและคลีนิคทันตกรรม ริมขวาสุดคือร้าน "ซุปเปอร์ไฟว์ลิ้มเหล่าโหงว" เป็นร้านลูกชิ้นปลา/เย็นตาโฟ เก่าแก่เช่นกันขยายมาจากกรุงเทพหลายสิบปีมาแล้ว จุดเด่นของร้านนี้คือ น้ำซุปจะเข้มข้น ถ้าชอบรสดุดัน แนะนำร้านนี้ครับ

ช่วงบ่ายร้านส่วนใหญ่ปิดหมดแล้ว แล้วแต่วันว่าจะไม่ปิดเวลาเดิม ขึ้นกับว่าของหมดหรือยัง
ถัดจากลิ้มเหล่าโหงวเป็นร้าน "หวานละมุน" ขนมหวานอร่อยมากครับ อร่อยทุกอย่างจริง ๆ ไม่ได้เกินไปแต่อย่างใด ช่วงเที่ยงนี่คนต่อแถวซื้อที่หน้าร้านเยอะเลยครับ ถัดไปคือร้าน "ศิริชัย" ข้าวมันไก่และข้าวซอย ลองมาทานกันดูครับ ข้าวซอยอร่อยนะ รสจัดนิดนึงตามแบบรสชาติพื้นเมือง

ล็อคสุดท้ายของกลุ่มร้านข้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
 มาถึงเชียงใหม่แล้ว ต้องมาทานอาหารที่ร้านแถวนี้ให้ได้สักครั้งครับ บรรยากาศร้านอาหารเก่าแก่และถนนยังให้ความรู้สึกแบบย้อนอดีตได้อยู่บ้าง

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์, สามกษัตริย์ผู้ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่
"อนุสาวรีย์สามกษัตริย์" ตั้งอยู่ที่เกือบกลางเมืองเชียงใหม่ โดยตั้งอยู่ที่ ถ.พระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง, ด้านหน้าของอนุสาวรีย์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก และอยู่ที่หน้าศาลากลางเมืองเชียงใหม่หลังเก่า 

ตำแหน่งที่ตั้งของอนุสาวรีย์สามกษัตริย์จาก googlemap
 องค์พระบรมรูปนั้นสูง 2.7 เมตร ประกอบด้วย พญางำเมือง (เจ้าเมืองพะเยา : องค์ซ้าย) พญามังราย (องค์กลาง) พญาร่วง หรือพ่อขุนรามคำแหง (องค์ขวา)

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ยามบ่าย วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2556
พระยามังรายได้ร่วมกับพระสหายทั้งสองสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ
"ศักราช 658 ปีระวายสัน เดือนวิสาข ออก 8 ค่ำ วัน 5 ไทยเมืองเปล้า ยามแตรรุ่ง สองลูกนาที ปลายสองบาทน้ำ ลัคนาเสวยนวางศ์ พฤหัสใีนยราศี" คณะกรรมการเมืองคำนวณวันเวลาตามจันทรคติแล้วมีมติว่าตรงกับ "วันตามสุริยคติ เมื่อวันที่ 12 เมษายน ปี พ.ศ. 1839 เวลาฤกษ์ 4.00 น." [1]

ฝั่งตรงข้ามของอนุสาวรีย์สามกษัตริย์นั้น ก่อนหน้านี้เป็นที่ทำการ "ศาลแขวงเชียงใหม่" ซึ่งในตอนนี้ได้ย้ายไปที่ อ.แม่ริม แล้ว และไ้ด้ปรับเปลี่ยนเป็น "พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา" ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เชียงใหม่

ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2556
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาเปิดให้เข้่าชมทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-17.00 น. โดยมีอัตราค่าเยี่ยมชม คนไทยผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท และชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 90 บาท เด็ก 40 บาท หรือติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 053-217-793

วันที่เราไปเดินเก็บรูปนั้นเป็นวันจันทร์พอดี เลยไม่ได้เข้าเยี่ยมชมเก็บข้อมูลมาฝากกัน แต่ไม่พลาดแน่นอนในโอกาสต่อไป

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
[1]  ประวัติศาสตร์ล้านนนา, ศ.สรัสวดี อ๋องสกุล พิมพ์ครั้งที่ 8 (ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม)

ความเป็นมาของ Chiang Mai I know

ด้วยความที่เป็นคนเชียงใหม่ อยู่เชียงใหม่มาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ นับเวลามาจนถึงตอนนี้ก็นานกว่า 30 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงของเชียงใหม่มาตลอด รวมไปถึงว่ามีเพื่อนชาวกรุงเทพคนนึงทักว่า เรารู้อะไรเกี่ยวกับเชียงใหม่เยอะอยู่แล้วนี่ ก็เลยกลับมาคิดอยู่พักใหญ่ ๆ แล้วก็ตัดสินใจทำ blog นี้ขึ้นมา เพื่อเล่าเรื่องราวที่เรารู้เกี่ยวกับเชียงใหม่ ว่าปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งที่พัก, ที่กิน, ที่ช็อป, ที่เที่ยว, ถนนหนทางต่าง ๆ และทุก ๆ เรื่องที่เกี่ยวกับเชียงใหม่เท่าที่เราทำได้ ในมุมเชียงใหม่ที่คนเชียงใหม่รู้จัก เพราะเราก็อยากให้คนอื่นรู้จักเชียงใหม่มากขึ้นในอีกมุมมองนึงที่เป็นมุมมองของเรา

ท้องฟ้าที่เชียงใหม่ในวันแรกของ Chiang Mai I know, 11:42 06/10/2556